หากพูดถึงแมว เราก็จะนึกถึงสัตว์เลี้ยงตัวน้อย ช่างอ้อน และซุกซนจนทำให้เจ้าของหลงรัก จนเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา บางครอบครัวก็เลี้ยง และรักเหมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัว แต่ถ้าเราจะพูดถึง แมวไทย บางคนอาจนึกถึง แมวพันธุ์ โบราณ หายาก แต่ไม่นิยมเลี้ยงเหมือนแมวพันธุ์ต่างประเทศ เช่น เปอร์เซีย ที่มีขนปุกปุยตัวอ้วนกลม  คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักว่าแมวไทยจริงๆนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร


แมวไทย พันธุ์แท้นั้นกลับไปมีชื่อเสียงโด่งดังที่ต่างประเทศมากกว่าในเมืองไทย ชาวต่างชาติ ที่ชื่นชอบและ รู้จักแมวไทย  คือ ความฉลาด ปราดเปรียว ลักษณะรูปร่างสมส่วน ศีรษะไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป หน้าผากกว้าง จมูกสั้น หูตั้งสั้น ลำตัวเพรียวบาง รูปร่างขนาดปานกลาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว ขนแน่นอ่อนนุ่มไปทั้งเรือนร่าง หางยาว โคนหางใหญ่ปลายหางเรียวแหลมชี้ตรง รวมถึงจุดเด่นที่สำคัญคือ มีสีสันงดงามแปลกตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่าแมวพันธุ์อื่น และมีความฉลาด ซื่อสัตย์ มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด ชอบประจบ รักบ้านรักเจ้าของ ดังกล่าวนี้เองจึง มีความมหัศจรรย์กว่าพันธุ์ใดๆ และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นพันธุ์ ที่ดีที่สุดในโลก เพราะได้รับรางวัลจากการประกวดในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น
เมื่อปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแมวไทยคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษชื่อนาย โอเวน กูลด์ (Owen Gould) นายโอเวน ได้นำแมวไทยคู่นั้นไปฝากน้องสาวที่อังกฤษ  และอีกหนึ่งปีต่อมา แมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมวที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ปรากฏว่าชนะเลิศได้รางวัลที่หนึ่ง ทำให้ชาวอังกฤษพากันแตกตื่นเลี้ยงแมวไทยกัน จนมีสโมสรแมวไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 ชื่อว่า The Siamese Cat Clubs ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษขึ้น หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire ขึ้นมาอีกสมาคมหนึ่ง 
คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีแมวพันธุ์ไทยแท้หลากหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สมัยอดีต แต่ปัจจุบันกลับเหลืออยู่เพียง 4 สายพันธุ์ สาเหตุเพราะประเทศไทยไม่ได้มีการอนุรัก์แมวไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน แมวมงคลสูญพันธ์ไปแล้วกว่า 13 ชนิด ตามตำราเล่มเก่าแก่ที่สุดเป็นสมุดข่อยโบราณ

ปัจจุบัน มีหลงเหลือให้คนรุ่นหลังชื่นชมเพียง 4 ชนิด คือ


แมววิเชียรมาศที่ปรับปรุงสายพันธุ์จากฝั่งตะวันตก(ยุโรป และสหรัฐอเมริกา)

1.วิเชียรมาศ

ตามหลักฐานในสมุดข่อยโบราณของไทย ระบุว่าเป็นแมวที่คนไทยเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก เพราะเชื่อว่าเป็นแมวนำโชคลาภ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้เลี้ยง แมววิเชียรมาศ มีลักษณะเด่น คือ มีตาสีฟ้าสดใส เหมือนตาฝรั่ง ส่วนสีขนลำตัวนั้นเป็นสีครีม และมีแต้มสีเข้ม ที่เรียกว่า แต้มสีครั่ง ได้แก่ ที่บริเวณหน้า หูทั้งสองข้าง ขาทั้งสี่ข้าง หาง และที่อวัยวะเพศ รวม9ตำแหน่ง

แมวมาเลศ

2.สีสวาดหรือโคราช

(มาเลศหรือดอกเลา) สมัยโบราณเรียกว่า แมวมาเลศ แต่ที่เรียกว่าแมวโคราช เพราะเรียกตามถิ่นกำเนิด คือค้นพบที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีความเชื่อว่าเป็นแมวแห่งโชคลาภ เพราะมีสีขนคล้ายสีเมฆ ตามีสีเหลืองอมเขียวประดุจข้าวกล้า ดังนั้นจึงถูกใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ

แมวศุภลักษณ์

3.ศุภลักษณ์หรือทองแดง

 มีขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย นับเป็นแมวพันธุ์ไทยแท้ที่เหลือจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน แต่มีแมวลักษณะคล้ายกันอยู่ในประเทศพม่า น่าจะเป็นแมวศุภลักษณ์ของไทยหลงเข้าไปในประเทศพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดย ดร.โจเซฟ ซีทอมสัน ขาวอเมริกัน ได้นำลูกแมวจากประเทศพม่าไปพัฒนาสายพันธุ์ และจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษในชื่อ แมวพม่า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแมวศุภลักษณ์ของไทย

แมวโกนจา ที่ศูนย์อนุรักษ์แมวไทย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

4.โกนจาหรือดำปลอด 

มีสีขนดำทั้งตัวไม่มีขนสีอื่นแซม ตาสีเหลืองดอกบวบแรกแย้ม ลักษณะการเดินทอดเท้าคล้ายสิงโต สมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้าเลี้ยงแมวโกนจาไว้เจ้าของจะมีสมบัติมากมาย



แมวขาวมณีตาสองสี (ข้างหนี่งสีฟ้า ข้าวหนึ่งสีเขียว)
นอกจากนี้ ยังมีแมว อีกชนิดคือ ขาวมณี  หรือ ขาวปลอด ที่ถูกสันนิษฐานว่าเกิดในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ ป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้มากสุดในปัจจุบัน เป็นแมวที่นิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนักครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่โดปรดปรานมาก ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงกันเป็นคู่เพื่อให้ผลัดกันทำความสะอาดขน เป็นแมวที่ค่อนข้างเชื่อง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นเพื่อนได้เป็นอย่างดี