การทำธุรกิจในปัจจุบัน เราไม่สามารถเมินเฉยต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นานาประเทศใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัด ที่สามารถสร้างเป็นมูลค่าธุรกิจได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังเป็นการจุดประกายให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม 

หากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ก็มีสิทธิที่จะนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายเพื่อชดเชยที่ทำให้เกิดผลกระทบกับโลก กรรมสิทธิ์ในปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ เราเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต”


ทุกวันนี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีการเติบโตและขยายตัวสูงมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการน้อย และเป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซที่คุ้มค่าที่สุด 

ในปี ค.ศ.2021 ทั่วโลกมีการใช้มาตรการนี้ถึง 45 ประเทศ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 65 ประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูงถึง 8.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยคาร์บอนเครดิต 1 เครดิต นั้นจะเท่ากับ ปริมาณคาร์บอน น้ำหนัก 1 ตัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าราคาการซื้อขายต่อ 1 เครดิต หรือ 1 เมตริกตัน อาจจะพุ่งสูงขึ้นถึง 88% หรือประมาณ 67 ดอลลาร์ต่อตัน ในอีกไม่ถึง 7 ปีข้างหน้า คือปี ค.ศ.2030


สำหรับประเทศไทย ตลาดคาร์บอนเป็นรูปแบบ “ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ” (Voluntary carbon market) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจก และภาคธุรกิจสามารถชดเชยคาร์บอนโดยดำเนินการผ่านโครงการชดเชยคาร์บอน หรือ Thailand Carbon Offsetting Programme (T-COP) 


ทั้งนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 – 2565 มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีแรกนั้น มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 846,000 บาท และในปี 2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 9 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าภายในเวลา 5 ปี 


ส่วนราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายในปีแรก มีราคาเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 150 บาทต่อตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โดยปี 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อตัน แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายลดลงประมาณ 9% และมูลค่าลดลงประมาณ 22% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งถือว่าแนวโน้มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยยังไม่เสถียรเท่าที่ควร


อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตถือว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ดีของผู้ผลิตที่จะหันมาใช้พลังงานสะอาด ผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ และเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการลดคาร์บอนอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี  ค.ศ.2065 

การที่ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายด้วยการใช้ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือ จะต้องจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น อีกทั้งสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในทุกระดับสังคมและทุกหน่วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง


จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นในระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงองค์กรที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้เกิดความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในอนาคตจะส่งผลให้คาร์บอนเครดิตกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า 


ตลาดคาร์บอนเครดิตจึงเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะเริ่มศึกษามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากหลายประเทศมีกฎหมายที่ชัดเจน และส่งผลดีต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ชัดเจนแล้วการเตรียมตัวให้พร้อมย่อมทำให้ได้เปรียบ ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการเพื่อลดโลกร้อน และสร้างรายได้จาก ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่งด้วย


ตลาดคาร์บอน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้น จากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย ต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมาย และเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) แต่ หากผู้เข้าร่วมในตลาด ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็จะถูกลงโทษ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย


2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ หรือองค์กร โดยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ซึ่งไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย


#ตลาดคาร์บอน #ก๊าซเรือนกระจก #ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #สาระดีสตอรี่ #saradeestory 


ที่มา : 

https://www.dcce.go.th/news/view_nature.aspx?p=13744